24 มิถุนายน 2475 - 24 มิถุนายน 2559
ในตำราสังคมศึกษาทำให้เราเชื่อว่า "รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของไทย" เป็นสิ่งที่เราได้รับจากการพระราชทานของรัชกาลที่ 7
ในวิชาประวัติศาสตร์สมัยมหาวิทยาลัยทำให้เรารู้ว่า คณะราษฎรวางแผนและกระทำการเพื่อให้ประชาชนได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย และชื่อเรียกระบอบการปกครองประเทศถูกเปลี่ยนแปลง
ในความเชื่อของสลิ่ม(ยุคปัจจุบัน) "คณะราษฎร" คือ กลุ่มคนชั่วร้ายที่ฉกชิงวิ่งปล้นอำนาจจากราชวงศ์ (แต่บางคนกลับภูมิใจที่ไทยไม่แพ้สงครามโลกพระน้ำมือของปรีดีย์ซะอย่างนั้น)
ในใจฝั่งประชาธิปไตย "คณะราษฎร" (คณะเดียวกับของสลิ่ม) คือ วีรบุรุษประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถูกยกย่อง ทูนหัวเกินความจริงเสียด้วยซ้ำในหลายๆครั้ง
แต่
ในความคิดของผม คณะราษฎรมีสถานะเป็นทั้ง "ผู้สร้าง" และ "ผู้ทำลาย" ในเวลาเดียวกัน
การเป็นผู้สร้าง
แน่นอนว่าคณะราษฏรเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทย ยอมเป็นคนที่ "ชิงสุกก่อนห่าม" นำวิธีปกครองของฝรั่งมาใช้กับประเทศอันมีวัฒนธรรมดีงามอย่างไทย(ซึ่งหลายคนมองว่า เวลานั้นไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย- ความคิดนี้มีต้นธารอันยิ่งใหญ่มากจนน่ากลัว หาอ่านได้ในเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคฉบับประเทศไทยในยุค 80 ที่มีพ่อของอนันดา เอฟเวอริ่งแฮมเป็นคนถ่ายภาพ)
ขณะเดียวกันผมคิด(หลังจากได้ฟังความคิดของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์หลายคนพูด)ว่า การก่อการของคณะราษฎรเมื่อ 84 ปีก่อน นำมาซึ่ง "ระบอบทหารไทยซะมากกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทย"
ซึ่งในที่นี้ผมมาว่ามันเป็น "การทำลาย"ระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาปรารถณา
และนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะวิพากษ์ในวันนี้
"คณะราษฎรผู้ปลุกปั้นระบอบทหาร" คณะราษฏรผู้คลอดปีศาจ
ในความคิดของผมระบอบทหารไทยฝังราก หยั่งลึกยิ่งกว่าความคิดแบบประชาธิปไตยเสียอีก ที่บอกแบบนั้นเพราะมีหลายคน(รวมทั้งคนรอบตัวของผม)เชื่อว่า
"การยึดอำนาจโดยทหาร เป็นวิธีเดียวในการจัดการกับความวุ่นวาย และปัญหาทุกๆอย่าง"
ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความคิดที่ขัดกับวิถีทางและความเชื่อในทฤษฎีประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
เพราะ
การยึดอำนาจโดยทหาร ทำให้ผู้คนหลงลืมแนวคิด "Waiting on a world to change" และ ทำให้คนเชื่อว่า "ประชาชนคิดเองไม่เป็น เจ็บแล้วไม่จำ"
(ผมคิดว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ต้องใช้เวลา ถ้าเลือกพลาดต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดนั้น เช่นได้ รัฐบาลห่วยๆ และถึงที่สุดความห่วยจะเป็นตัวทำลายรัฐบาลนั้นๆ พรรคการเมืองนั้นเอง และในที่สุดพรรคอื่นๆ ทางเลือกอื่นๆจะเกิดขึ้น - กรณีศึกษาคือความพ่ายแพ้ของพรรคเก่าแก่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้ พรรคที่ครองสภามานานแสนนาน ในที่สุดพวกเขาก็พ่ายแพ้เป็น - หาข้อมูลอ่านเองในข่าวย้อนหลัง)
ผมเชื่อว่า
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อคราวนั้น ทำให้ทหารรู้สึกว่า
"ทหารเราช่างมีอำนาจเหลือเกินเว้ยเห้ย"
แนวคิดนี้สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลเชิงสถิติ นับดูสิว่านายกรัฐมนตรีไทยระหว่างคนที่มียศนำหน้า กะคนที่มีคำว่านายกะนางสาวนำหน้าอะไรมากกว่ากัน และไปดูสิว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งมีปริมาณน้อยกว่านายกฯที่มาจากค่ายทหารขนาดไหน
และที่สำคัญมีความพยายามเข้ายึดอำนาจบ่อยครั้งเพียงไร เฉพาะแค่ครั้งที่ทำสำเร็จก็ไม่สามารถใช้นิ้วมือนับได้พอ
ที่แน่นอน ชัดเจน แจ่มแจ้งยิ่งกว่า นั่นคือ ก่อนแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับที่ 1จะถูกเขียน ไม่เคยมีทหารคนใดเคยประกาศออกโทรทัศน์ หรือจัดรายการคืนวันศุกร์ หลังครองอำนาจด้วยรถถังและกระบอกปืน
นั่นเป็นหลักฐานชัดเจนว่า การกระทำของคณะราษฎร คือ หมุดหมายที่สำคัญ เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ และจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของระบอบที่น่าจะยังคงฝังรากอยู่ในประเทศแห่งนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน
สำหรับคนที่กำลังเชิดชู ปลาบปลื้ม และเฉลิมฉลองกับวันครบรอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ผมขอบอกว่าผมไม่ได้เป็นศัตรูกับคุณ และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สามารถฉลองได้
เพราะอย่างไรเสีย ผมก็ยังมองว่า การกระทำของคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพียงแค่พวกเขายังเยาว์และเขลาเกินกว่าจะคาดคิดว่า การดีที่เขาได้ก่อ กับสร้างความร้ายยิ่งกว่าเก่าให้เกิดขึ้น คงอยู่ และยังไม่ดับไป
สำหรับคนที่สนับสนุนทหาร ผมก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับคุณ เพราะผมไม่คิดว่าเราควรเป็นศัตรูเพียงเพราะต่างความเชื่อ เพียงแค่ผมคิดว่า "การยึดอำนาจของทหาร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกและไม่ควรทำเท่านั้นเอง"
แด่ (อดีต)วันชาติ
Read : ข้อเขียนชวนอ่านฆ่าเวลา เยียวยาการนอนไม่หลับ
เรื่องและภาพ : Nontarat Phaicharoen. นักข่าวปลอม เขียนข่าวในประเทศไทย เอาใจเมกา
Comments