“ทิ้งไว้กลางทางมียอดวิว 2 ล้านครั้งภายใน 1 วัน” นี่คือประโยคบอกความสำเร็จของวงดนตรีในปัจจุบัน
“โลโซไซตี้ขายได้ล้านตลับ และทุกเพลงถูกทำเอ็มวี” นี่คือประโยคบอกความสำเร็จของวงดนตรีในยุคก่อนหน้า
ย้อนกลับไปเมื่อสัก15 ปีที่แล้ววงการดนตรีไทยเฟื่องฟูถึงขีดสุด มีวงดนตรีหลายวงขายเทปได้เกิน 1 ล้านก็อปปี้ รายได้หลักของนักดนตรีในสมัยนั้นมาจากการขายผลงานในบรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า “ตลับ”
ปัจจุบันรายได้หลักของนักดนตรีคือ การขายโชว์ รายได้จากการขายผลงานทั้งแบบซีดีและดิจิตอลดาวน์โหลดแทบจะไม่พอจ่ายค่าห้องอัดด้วยซ้ำ
ในสมัยที่ปู-พงษ์สิทธิ์ออกอัลบัมเสือตัวที่ 11 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า รายได้จากการขายเทปมากพอที่ทำให้เขาสามารถอยู่บ้านเฉยๆโดยไม่ต้องเล่นคอนเสิร์ตเป็นปีๆ คำสัมภาษณ์นี้น่าจะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดว่าเมื่อก่อนนักดนตรีไทยขายเทปจนร่ำรวย
ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นไม่เกี่ยวอะไรกับโจทย์ของบทความชิ้นนี้ แต่เราเล่าเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการดนตรีไทย ทั้งเรื่องรูปแบบการเสพเพลงของประชาชน และช่องทางของรายได้ของศิลปิน
“แล้วแผ่นเสียงจะอยู่ได้อย่างไรในยุคปัจจุบัน” นี่ต่างหากคือโจทย์ที่แท้จริงของบทความนี้
แผ่นเสียง หรือ Long-Play เป็นฟอร์แมตในการขายผลงานเพลงแบบแรกของโลก และได้ผ่านการท้าชิงจากฟอร์แมตรุ่นหลังมากมายทั้งเทปคาสเซ็ต คอมแพ็คดีส เลเซอร์ดีส และในขณะที่ฟอร์แมตต่างๆล้มหาย ตายจาก และยอมแพ้ให้กับฟอร์แมตรุ่นหลังสุดอย่างดิจิตอลฟอร์แมต (เอ็มพี3) แต่แผ่นเสียงพี่ใหญ่วัยทองยังคงยืนหยัดอยู่ และมีคุณค่า มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาแผ่นเสียงเคยมียุคที่ตกต่ำ มียุคที่ถูกลืม แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันพวกมันกำลังกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าคนเล่น คนฟัง และคนสะสมแผ่นเสียงจะไม่มากมายเท่ากับคนที่ดู Youtubeนับคนไทยที่เล่น ที่ฟัง ที่สะสมแผ่นเสียงอาจไม่ถึงหลักแสนแต่หากนับเม็ดเงินที่หมุนเวียนหรือมูลค่าแผ่นเสียงต่อแผ่นที่เพิ่มขึ้นนั้นเห็นชัดเจนว่าตลาดเพลงไทยมองข้ามแผ่นเสียง และคนรักแผ่นเสียงไม่ได้อีกต่อไป
เจ้าของร้านแผ่นเสียงออนไลน์เจ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนกับเราบอกว่า “คาราวาน อัลบัมอเมริกันอันตรายขายได้แสนกว่าบาท” “คาราบาวแต่ละชุดราคาเหยียบหมื่น” “แผ่นเสียงโมเดิร์นด็อกรีอิชชูหมดเกลี้ยงตั้งแต่ช่วงจอง พอวางแผงจริงราคาก็ถูกปั่นขึ้นไปเป็นเท่าตัว” คำบอกเล่าเหล่านี้ยิ่งย้ำให้เรามั่นใจว่า แผ่นเสียงคงไม่ตายไปจากสังคมไทยง่ายๆ
“ทำไมแผ่นเสียงยังอยู่ ทำไมคนฟังถึงอยากเก็บ?”
เป้ อารักษ์ ถือเป็นคนรักแผ่นเสียงอีกคนหนึ่ง เขาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการรายการหนึ่งว่า เขาเริ่มสะสมแผ่นเสียงเพราะ บรรจุภัณฑ์สวยงาม การฟังเพลงจากแผ่นเสียงโดยเฉพาะแผ่นเสียงจากยุคเก่าที่อัดในแบบอนาล็อกจะได้มิติมากกว่าการฟังเพลงจากดิจิตอลฟอร์แมต และซีดี ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า นักดนตรีคนนั้นมาเล่นเพลงสดๆให้ฟังตรงหน้า ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เขากลายเป็นคนสะสมแผ่นเสียงทั้งของวงรุ่นเก่า และวงรุ่นใหม่
“เพราะปกมันใหญ่ ทำให้มันกลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ น่าเก็บ น่าสะสมกว่าซีดี และดีกว่าการซื้อดิจิตอล ที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีอะไรที่สัมผัสจับต้องได้” ใครสักคนเคยอธิบายเหตุผลที่ทำให้แผ่นเสียงนั้นน่าเก็บ
ปัจจุบัน นักฟังเพลงไทยรุ่นใหม่เริ่มตื่นตัวกับการกลับมาของแผ่นเสียงบ้างแล้ว อย่างที่ ในสื่อสมัยใหม่อย่าง Facebook หรือ Instagram เริ่มมีคนลงรูปแผ่นเสียง มีการขายแผ่นเสียง มีการสร้างกลุ่มคนรักแผ่นเสียง และมีกลุ่มแลกเปลี่ยนแผ่นเสียงให้เห็น ซึ่งสมาชิกในแต่ละกลุ่ม แต่ละร้านก็มีกันถึงหลักหลายพัน หรือเหยียบหลักหมื่น ทั้งยังมีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ร้านค้าอย่าง Mangpong หรือ B2S ก็คงเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน เริ่มมีการวางขายเครื่องเล่นแผ่นเสียง (ที่ราคาไม่แพงนัก) เพื่อเอาใจคนรักแผ่นเสียงมือใหม่ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดกระทัดรัด พกพาสะดวกอย่าง Crosley เริ่มคุ้นหู คุ้นตาชาวบ้านร้านตลาดมากขึ้น
ถ้าถามอีกครั้งว่าแผ่นเสียงจะอยู่ได้อย่างไรในยุค Hipster ครองไทย ก็คงต้องตอบว่า “อยู่ไปอย่างนี้แหละ”
DTS : Dontreesarn(ดนตรีสาร) ข้อเขียน ข้อเขี่ย ข้อเลีย วงการดนตรี
เรื่องและภาพ : มหาสมุทร บุปผา. นักฟังดนตรีไทย-สากลสมัครเล่น ลึกลับ ขับถ่ายเป็นเวลา
Comments