เราไปดู “Amy” ไม่ใช่เพราะมันเป็นสารคดีที่ดี และน่าดู ไม่ใช่เพราะเราเป็นแฟนของ Documentary Club (แม้จะเคยดูหนังที่สโมสรสารคดีแห่งนี้พาเข้ามาฉายหลายเรื่องก็ตาม) และเราไม่ได้ไปดู “Amy เพราะ ได้อ่านรีวิวมากมายที่แซ่ซ้องมัน (ไม่ได้อ่านสักกะอัน)
แต่เราไปดู “Amy” เพราะเราเป็นแฟนเพลงของ Amy Winehouse ตั้งแต่วันที่ซื้อ Back to Black จากร้านซีดีมือสองที่ อิมพีเรียลเวิร์ล สำโรง เมื่อหลายปีก่อน (ซีดีมือสองในที่นี้คือแผ่นโปรโมตที่ค่ายเพลงส่งให้คลื่นวิทยุ มันถูกขายเป็นมือสองพร้อมๆกับตอนที่อัลบัมวางแผงจริง)
และหลังจากนั้นมากระเป๋าเก็บซีดีของเราก็ไม่เคยขาดแผ่น Back to Black ไม่ว่าจะผ่านเวลามานานแค่ไหนเพราะ Back to Black เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหากเราต้องเดินทางร่วมกับคนอื่นที่ไม่ถนัดฟัง Scissor Sisters หรือ Vampire Weekend (ยังไม่รวม Futon, BrandNew Sunset และ อพาร์ตเมนต์คุณป้าด้วยนะเนี่ย)
เราไม่ใช่คอแจ๊ส (ถึงจะสะสมหนังสือเกี่ยวกับเพลงแจ๊สเอาไว้มากกว่าเพลงร็อคก็เถอะ) แต่เราชอบ Amy Winehouse ด้วยรู้สึกว่า อีสาวนี่มันโหด มันเก่ง และเพลงมันเพราะอย่างประหลาด มี่เป็นนักร้องที่ร้องเพลงได้สุดยอด เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เพลงที่มันร้องเรียกว่าแจ๊ส ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่า ทุกเพลงมันลงตัว ทั้งดนตรี เสียงร้อง และจังหวะจะโคน
และ Back to Black มีจังหวะจะโคนดียังไง “Amy” ที่เราเพิ่งได้ดูก็ทำได้ไม่ต่างกัน
ถึงแม้หลายอย่างในสารคดีเรื่องนี้จะขัดใจเรา แต่ส่วนที่เกลี่ยความขรุขระทั้งหลายให้เรียบจนลื่นนั่นคือ จังหวะการถ่ายทอดอารมณ์ที่ดีเยี่ยม ถึงแม้มันจะไม่ได้เล่าเรื่องในมุมของตัวมี่เท่าไหร่นัก แต่มันกลับอธิบายได้อย่างชัดแจ้งว่า เหตุใด? เธอจึงเป็นเธอ
“Amy” คือสารคดีที่เล่าเรื่องผ่านบรรยากาศรอบตัวของมี่ จากคำบอกเล่าของพ่อและแม่ จากคำพูดของเพื่อน จากคำอธิบายของคนที่ได้รู้จักเธอ จากบอดี้การ์ด นักดนตรี ผู้จัดการส่วนตัว และโปรดิวเซอร์ที่เคยร่วมงานด้วย และจากอดีตสามีของมี่เอง
มันเล่าเรื่องด้วยเสียงสัมภาษณ์ ภาพฟุตเทจ สลับกับเสียงร้องเพลงที่เธอร้อง ท่วงทำนองที่มี่เองเป็นคนเขียน
ด้วยความที่สารคดีไม่ได้คุยกับมี่โดยตรง หรือบางตอนทำให้รู้สึกด้วยซ้ำว่า มี่ไม่พอใจที่ถูกติดตามถ่าย ทำให้สารคดีเรื่องนี้ขัดใจเรา ทำให้เรารู้สึกว่า เนื้อหามันยังขาดไป มันยังไม่สมบูรณ์ในการเล่าเรื่อง
แต่แค่นี้มันกลับเพียงพอแล้วในการทำหน้าที่อธิบายความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงที่ชื่อว่า Amy Winehouse เพราะมันสามารถทำให้ผู้ชมรู้ว่า ทำไมเธอต้องใช้ยาเสพติด? ทำไมเธอต้องดื่มเหล้าเมามาย? และทำไมเธอต้องจากเราไป?
และเหนือสิ่งอื่นใด การเกิดขึ้นของหนังเรื่องนี้เหมือนการตอกย้ำให้โลกรู้ว่า การตายของ Amy Winehouse คือความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้การจากไปของ Kurt Cobain การตายของมี่ เหมือนดอกไม้ตูมที่ถูกเด็ด ดอกไม้ที่แม้แค่เพียงตูมยังสวยอย่างวิเศษ แต่กลับไม่มีโอกาสได้บานอวดความงามเต็มวัย
“เธอคือนักร้องเพลงแจ๊สที่ยิ่งใหญ่ในระดับใกล้เคียงกับ Ella Fitzgerald และ Billie Holiday เธอคือนักร้องที่ดีที่สุดหลังจากโลกมี Elvis Presley, The Beatles และ The Rolling Stones เธอมีหูแบบนักดนตรี และเธอมีสิ่งที่หลายคนอาจไม่มีซึ่งเรียกว่า ความซื่อสัตย์ในการร้องเพลง” คำพูดของ Tony Bennett นักร้องขวัญใจมี่ที่บอกกับ Studio Q (มีบางส่วนของสัมภาษณ์นี้อยู่ในหนังด้วย) น่าจะอธิบายความงามที่มี่ได้สร้างเอาไว้ได้ดีที่สุด
สำหรับเรา สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่ตัวเองไม่สามารถจินตนาการได้นั่นคือ ความยากลำบากในการรับมือกับชื่อเสียง และเงินทอง นักดนตรีที่แข็งแกร่งอาจจะพอรับมันไหว นักดนตรีที่มีผู้ดูแลที่ดีอาจจะพอรับมันได้ แต่สำหรับนักดนตรีที่แค่อยากแต่งเพลง และร้องเพลงด้วยจิตใจบริสุทธิ์อาจไม่สามารถเอาชนะความคลั่งไคล้ซึ่งเปลี่ยนเป็นหอกที่ถาโถมเข้าทิ่มแทงเขาได้ สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราเห็นภาพนั้นชัดขึ้น
DTS : Dontreesarn(ดนตรีสาร) ข้อเขียน ข้อเขี่ย ข้อเลีย วงการดนตรี
เรื่อง : มหาสมุทร บุปผา. นักฟังดนตรีไทย-สากลสมัครเล่น ลึกลับ ขับถ่ายเป็นเวลา
ภาพ : ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Amy
Comments